ธุรกิจประเภท Deep Tech Startup คืออีกกลุ่มที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าธุรกิจ startup ทั่วโลกมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถไปต่อได้ เพราะธุรกิจประเภทนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และแผนธุรกิจต้องสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะทาง
ด้วยเหตุนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงมีแนวทางในการจัดทำ โครงการบ่มเพาะและยกระดับ Deep Tech Startup แบบก้าวกระโดด เพื่อเปิดโอกาสให้กับ Startup สายงานวิจัยเข้าร่วมกระบวนการบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ตามนโยบายของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่มุ่งสู่การเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ The World Master of Innovation
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “สถาบันได้ดำเนินการในหลายด้านเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของ startups ทั้งการประชาสัมพันธ์และอบรมผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การวางแผนทางธุรกิจ ด้านกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรม business matching ทั้งในและต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมา สจล. ได้เปิดรับสมัคร Deep Tech Startup เข้ามาจำนวนทั้งหมด 28 startups และหลังจากได้มีการอบรมบ่มเพาะและให้คำปรึกษาแล้ว ปัจจุบันมี 5 startup ที่กำลังอยู่ในการดำเนินการจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 เดือนข้างหน้า และอีก 3 startup ที่กำลังอยู่ในระหว่างการประเมินเพื่อจัดตั้งบริษัท และนี่เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของโครงการและความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมถึงวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายหน่วยงานที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการนี้ด้วยความตั้งใจและความมุ่งมั่น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “บพข. ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และโครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ บพข. เห็นความสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมให้ Deep Tech Startup สามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนและล้มเลิกกิจการ ให้โอกาสธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ เป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนีกุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ดูแลและดำเนินการโครงการฯ กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KMITL Research and Innovation Services: KRIS) เริ่มดำเนินการด้าน Incubation และ Acceleration ให้กับ Startup มีการแบ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมในระดับที่ต่างกันเข้าร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับ Startup นั้นๆ ผนึกกำลังเสริมทัพแบบก้าวกระโดดให้กับธุรกิจ Startup แต่ละประเภท ด้วยการสอนวิธีและกระบวนการที่เหมาะสม บ่มเพาะธุรกิจ Deep Tech Startup ให้พร้อมทุกด้านทั้งในเชิงการวางแผนธุรกิจ วางแผนสภาพความคล่องด้านการเงิน แนะแนวทางออกของธุรกิจ Startup เช่น Exit Strategy, Spin-offs, การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการแนะนำและจับคู่ให้ธุรกิจ Startup กับนักลงทุนได้มาพบและร่วมเจรจาต่อรองการร่วมทุนอย่างเหมาะสม กิจกรรมภายในโครงการฯ ดังนี้
- กิจกรรม Deep Tech Bootcamp ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ Startup ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ตลาด ในรูปแบบ Workshop, One-on-One และ Private Mentoring โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับธุรกิจ Startup แต่ละราย อาทิ ด้านการลงทุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาไอเดียในแง่มุมต่างๆ การสร้างมูลค่าและความเชื่อมั่นในแบรนด์ให้เกิดความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
- จัดการเจรจาและพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรม (Business Matching) ภายในประเทศ เพื่อสร้างกลไกการส่งเสริม Startup ให้มีความพร้อมด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ
- คัดเลือกธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพและมีแผนธุรกิจที่เหมาะสมเข้าร่วมกิจกรรม Business Matching ในต่างประเทศ 2 งาน ได้แก่ AsiaBerlin Summit 2023 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี และงาน Consumer Electronics Show 2024 (CES 2024) ที่ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนานวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักวิจัยและนักนวัตกรรมในประเทศได้แสดงศักยภาพของตน และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ The World Master of Innovation สจล. มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริงได้ นวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเราในเวทีโลก นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทยทุกคน และในปัจจุบัน สถาบันได้มีการจัดตั้งบริษัท เคเอ็มไอที โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งทำงานร่วมกับ startup ต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ”
รายชื่อผู้ประกอบการที่ร่วมในโครงการบ่มเพาะและยกระดับ Deep Tech Startup แบบก้าวกระโดดอาทิ
- K1 - ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ รักษาโรคพืช
- K2 - Graphene
- K3 - Electron Plus - วงจรอัจฉริยะสำหรับการสร้างความร้อนและความเย็น
- K4 - eVTOL (Vertical Takeoff Drone) - โดรนของ อ เสริม IAAI
- K5 - STEMLab - ห้องเรียนด้าน STEM และบทเรียนสำหรับนักเรียนมัธยม
- Glisten - ผลิตภัณฑ์กระเป้า และสิ่งตกแต่งบ้านจาก เศษเหลืออุตสาหกรรม (ฟิล์ม wrap รถ)
- Egg-E-Egg - เครื่องวัดคุณภาพไข่ว่า fertized รึยัง
- MeLog - ระบบ logistics สำหรับการขนส่ง
- Manee Lab - IP Core Channel Coding
10.MedStream Innovations : Organ-On-Chip Model Blood-Brain-Barrier
11.Ittiyarom : หินหอมรึไซเคิล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Email: kris@kmitl.ac.th
Tel: 086-825 5420
ประชาสัมพันธ์โดย : PIMDAWAN
วันที่ลงข่าว : 30-07-67