วันที่ 16 มกราคม 2566 ณ บิทคับ เอ็ม โซเชียล ชั้น 9 ศูนย์การค้าเอมควอเทียร์ บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม บิทคับ อะคาเดมี ศูนย์การเรียนรู้สินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้ ร่วมสร้างคอมมูนิตี้และสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ร่วมกับ Thammasat Desing School ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) พัฒนาหลักสูตรส่งเสริมนักศึกษาให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟ้า ลิขิตสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศและภาคีสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ลงนามในพิธี
ในระยะแรกของความร่วมมือ บิทคับ อะคาเดมี จะเข้าไปร่วมสอนในรายวิชา Information Technology and Management ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง รวมทั้งสิ้น 7 สัปดาห์ มีการสอนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ Cryptocurrency & Blockchain : สร้างความรู้ ความเข้าใจ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสินทรัพย์ดิจิทัล, ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล, การทำงานของสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าใปใช้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ, Blockchain & Business Use Case : สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน ตั้งแต่การกำเนิด, การทำงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ, Blockchain Implementation : เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีบล็อกเชน อาทิ Non-Fungible Token (NFT), Decentralized finance (DeFi), Artificial Intelligence (AI) เป็นต้น
หลักจากที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในภาคทฤษฎีครบถ้วนแล้ว บิทคับ อะคาเดมี ได้จัดกิจกรรม Pitching Project ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติ โดยให้นักศึกษารวมกลุ่มกันเพื่อคิดและนำเสนอไอเดีย ในหัวข้อ “การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้พัฒนา Business Model” โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญจาก บิทคับ อะคาเดมี คอยให้คำปรึกษาเพื่อต่อยอดไอเดียของนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีการให้คะแนนเพื่อเป็นคะแนนในรายวิชา Information Technology and Management ของนักศึกษาอีกด้วย
นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ เปิดเผยว่า “บิทคับ อะคาเดมี มีวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมาย คือ เป็นศูนย์การเรียนรู้สินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้ ร่วมสร้างคอมมูนิตี้และสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เรามีผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นกำลังหลักในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้องและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของเรา พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา บิทคับ อะคาเดมี จะเดินหน้าจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ต่อไปและพร้อมจะจับมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาหลักสูตรหรือศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันสร้างอนาคตของคนในประเทศให้แข็งแรงและก้าวตามทันยุคเทคโนโลยีดิสรัปชันอย่างยั่งยืน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ในปัจจุบันนับเป็นยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง เทคโนโลยีต่าง ๆ มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เราเชื่อมั่นว่า บิทคับ อะคาเดมี มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพที่สามารถส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และต่อยอดศักยภาพนักศึกษาของเราได้จึงเกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้น นอกจากนี้ทาง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง และ บิทคับ อะคาเดมี ยังมีความต้องการที่จะส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากการทำงานในสถานที่จริง ตลอดจนมีโอกาสได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากพนักงานในองค์กรที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางต่าง ๆ จึงจะต่อยอดความร่วมมือดังกล่าว โดยส่งนักศึกษาที่มีความสนใจเข้าไปฝึกงานที่ บิทคับ อะคาเดมีและบริษัทในเครือ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง กล่าวว่า “ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของมนุษยชาติ แต่ปัญหา คือ การเรียนรู้ว่าจะนำเทคโนโลยีไปปรับใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการออกแบบ จึงมองว่าการร่วมมือกับ บิทคับ อะคาเดมี ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับนักศึกษา แวดวงสถาปนิก นักออกแบบและการผังเมือง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตและช่วยส่งเสริมให้เด็กยุคใหม่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและทุกคน”