สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดงานมอบรางวัลนราธิปฯ ปี 65 และประชุมสามัญใหญ่ ปี 66
เรียนเชิญสมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมงานมอบรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประจำปี 2565 วันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2566 เวลา 09.00 - 12.00 น.และร่วมประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2566 เวลา 13.00 - 15.30 น. ณ ห้องสามเสน โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ กรุงเทพฯ
หมายเหตุ ***** เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงแจ้งสมาชิกทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และประชาสัมพันธ์ทางสื่อสังคมออนไลน์
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีจุดกำเนิดในปี พ.ศ. 2511 จากการที่ นายเลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา “อรวรรณ” นักประพันธ์เอก ป่วยหนัก เหล่านักเขียนโดยการนำของนายสุวัฒน์ วรดิลก ได้รวมตัวกันจัด “งานชุมนุมน้ำใจ” ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 เพื่อหาเงินช่วย “อรวรรณ” หลังจากการจัดงานครั้งนั้น นักเขียนทั้งหลายได้รวมตัวกัน ก่อตั้ง “ชมรมนักเขียน 5 พฤษภา” และถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันมงคล เป็นวันของนักเขียน เพื่อร่วมชุมนุมกันเป็นประจำทุกปีมาจนปัจจุบัน“ชมรมนักเขียน 5 พฤษภา” มีนายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นประธาน ใน 2 ปีแรก (พ.ศ. 2511-พ.ศ. 2512) นายอุทธรณ์ พลกุล เป็นประธาน ในปีต่อมา และในปี พ.ศ. 2514 ชมรมนักเขียน 5 พฤษภา ก็ได้ก่อตั้งเป็น “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2514 โดยการนำของผู้ก่อตั้ง 3 คน คือ นางสุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา, นายเสนีย์ บุษปะเกศ และนายถาวร สุวรรณ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม คนแรก คือ นายอุทธรณ์ พลกุล
นายอุทธรณ์ พลกุล นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนแรก ได้กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันนักเขียน 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ว่า “นักเขียนทุกคนย่อมมีภาระหน้าที่ส่วนตัว โดยปรากฏผลงานออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และตีพิมพ์อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ผลงานเหล่านี้จะคงทาบติดฝาผนังอันยาวเหยียดของกาลเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุด และยังคงห้อยแขวนอยู่ตามราวแห่งความคิดคำนึงในภายหลัง ไม่ว่าผลงานนั้นจะเป็นมาในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตข้างหน้า”
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมีภารกิจในการช่วยส่งเสริมให้นักเขียนได้สร้างสรรค์ผลงานส่วนตน และช่วยยกย่องเชิดชูผลงานเหล่านั้นให้ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในสังคมไทยและในสังคมโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางให้นักเขียนได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และช่วยเหลือคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพให้นักเขียนเท่าที่จะสามารถทำได้