รมว.แรงงาน ห่วงเหตุลูกจ้างถูกเครื่องบดย่อยยางดึงร่างเข้าไปทำให้เสียชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุ และเร่งช่วยเหลือให้ญาติได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย โดยเชิญนายจ้างสอบ 12 มกราคมนี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงอุบัติเหตุลูกจ้างถูกเครื่องจักรซึ่งเป็นเครื่องบดย่อยยางดึงร่างเข้าไปทำให้เสียชีวิต ว่า ทันทีที่ทราบข่าว ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวลูกจ้างผู้เสียชีวิต พร้อมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 3 (นครราชสีมา) ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจสอบหาสาเหตุ และเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายทันที เบื้องต้นได้รับรายงานว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 22.30 น. สถานที่เกิดเหตุสถานประกอบกิจการในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยางพารา มีลูกจ้างประมาณ 1,092 คน ทำงานประจำแผนกเครื่องจักร จำนวน 47 คน โดยมีนายศุภชัย ศรีผง อายุ 31 ปี ลูกจ้างผู้เสียชีวิต กำลังปฏิบัติงานที่แผนกเครื่องจักรอยู่ ขณะเกิดเหตุได้นำแผ่นยางเพื่อใส่เครื่องบดย่อยยาง ซึ่งแผ่นยางได้ติดค้างที่เครื่องบดย่อยยาง นายศุภชัยฯ จึงได้โน้มตัวเข้าไปดึงแผ่นยางออก โดยไม่ได้ปิดสวิตช์หยุดเครื่องจักร ทำให้ตัวนายศุภชัยฯ ถูกเครื่องบดย่อยยางดึงเข้าไปในเครื่องพร้อมแผ่นยางเป็นเหตุให้เสียชีวิตทันที ซึ่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.บุรีรัมย์ ได้มีหนังสือเชิญนายจ้าง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 12 มกราคม 2566 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ญาติลูกจ้างผู้เสียชีวิตพึงได้รับตามกฎหมายต่อไป
ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.บุรีรัมย์ และ ศปข. 3 ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม โดย สปส.บุรีรัมย์ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ลูกจ้างผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ ค่าจัดการงานศพ จำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนให้แก่ทายาท 70% ของค่าจ้าง จำนวน 10 ปี เงินบำเหน็จชราภาพ (อยู่ระหว่างการตรวจสอบ) และสิทธิอื่นๆ ที่ญาติผู้เสียชีวิตพึงได้รับ ในเบื้องต้นนายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพทั้งหมด ส่วนเงินช่วยเหลืออื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมให้ญาติลูกจ้างที่เสียชีวิตต่อไป