พร้อมชื่นชมขับเคลื่อนงานสนับสนุนคนไทยมีสุขภาพดีเห็นผลเป็นรูปธรรม
วันที่ 27 ธ.ค.65 ในการประชุมวุฒิสภา ได้มีการพิจารณารายงานประจำปี 2564 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. นำคณะผู้บริหาร สสส.ร่วมผู้ชี้แจง โดยมีสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพอย่างกว้างขวาง
รศ.พล.อ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สรุปข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากกรรมาธิการฯ ว่า สสส.มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมหลายเรื่อง ทั้งลดการบริโภคเหล้า บุหรี่ ที่ตัวเลขการบริโภคลดลง ที่น่าชื่นชมคือตัวเลขการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลง แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สสส.ต้องเร่งสื่อสารข้อมูลอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อสกัดกั้นปัญหานี้ไม่ให้ขยายตัว และขอให้กำหนดเรื่องการป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นวาระสำคัญ เพราะเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ พร้อมทั้งชื่นชมที่ สสส.ไม่ได้เพียงรายงานประจำปีต่อสภานิติบัญญัติ แต่เผยแพร่ออนไลน์ถึงสาธารณชน มีการแสดงผลงานทั้งหมดในเว็บไซต์ของ สสส. ด้วย แสดงออกถึงความโปร่งใส
ศ.เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ กล่าวแสดงความยินดีที่ สสส. ดำเนินงานมากว่า 20 ปี และได้รางวัลมากมายทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ ได้รับการประเมินความโปร่งใสสูง โดยเฉพาะการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ของ ปปช. ที่ สสส. ได้รับผลการประเมินระดับ “A” ได้คะแนนร้อยละ 93.68 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ ทำให้มีความคาดหวังจากสังคมสูง เห็นด้วยที่ สสส.ทำงานกับทุกระดับ ทั้งบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้คนไทยเป็นปกติ ไม่อ้วน ไม่ผอม ไม่เป็นโรค แต่จะทำเฉพาะลดปัจจัยเสี่ยงไม่เพียงพอ ต้องเน้นป้องกัน และนำดิจิทัลมาปรับใช้ ขอให้เน้นเรื่อง NCDs และเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพของประชากรตั้งแต่อายุ 20 – 30 ปี นอกจากนี้ให้ สสส. เตรียมพร้อมรับการประเมินระดับนานาชาติในรอบ 25 ปี ซึ่งจะทำให้หน่วยงานเป็นที่รู้จักและเกิดการเรียนรู้ต่อไปด้วย
นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี กล่าวว่า ยินดีกับ สสส. ที่ได้รับรางวัลเนลสัน แมนเดลา ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วย แต่รางวัลเป็นทั้งตัวค้ำประกันและค้ำคอ เมื่อได้รับแล้ว สสส. ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ลดลง ชื่นชมภาพรวมรายงานประจำปี ทั้งผลงาน และผลการประเมิน ทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพในสถานการณ์โควิด-19 ขอให้เฝ้าระวังต่อไป เพราะแนวโน้มโควิด-19 จะยังอยู่ไปอีกนาน ที่เป็นห่วงคือการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีการจำหน่ายและมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น ขอให้เฝ้าระวังกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ และอีกไม่กี่วันจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันปีใหม่ โดยเฉพาะตัวเลขที่สัมพันธ์กับการดื่มแล้วขับ พร้อมทั้งขอให้รณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนทั้งปี
น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร กล่าวว่า รายงานประจำปี 2564 สสส.มีผลงานเด่น 4 เรื่องที่สมบูรณ์ 1.การทำงานสร้างเสริมสุขภาวะในสถานการณ์โควิด-19 2.การพัฒนาเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ สู่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะ” 3.ปฏิบัติการเมืองเชียงใหม่ แก้ไขวิกฤต PM 2.5มหันตภัยที่มองไม่เห็น 4.การยกระดับชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง “รู้รับปรับตัว” สร้างเสริมสุขภาวะรอบด้าน แต่ฝากให้ สสส. ขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางจิตกับคนไร้บ้านให้มากขึ้น เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตคนกลุ่มนี้ และเป็นส่วนหนึ่งสร้างความปลอดภัยให้คนในสังคมที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยเสนอให้ทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อฟื้นฟูจิตใจคนไร้บ้านให้กลับคืนสู่สังคมได้ เพราะเชื่อว่า สสส. มีศักยภาพในการช่วยเรื่องนี้
นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สสส. ทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ ที่ใช้กลไกไม่ซับซ้อน คล่องตัว และเป็นตัวอย่างที่ดี ควรนำไปเป็นแบบอย่างการทำงานให้หน่วยงานอื่น และขอให้ สสส. เดินหน้าพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพต่อไป 10 ประเด็น 1.ทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่น ขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดูแลและต่อยอดระยะยาว 2.ส่งเสริมสุขภาพมิติใหม่ สร้างความเข้มแข็งชุมชน สิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนนโยบายและระบบที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น 3.ขับเคลื่อนงานเรื่องอุบัติเหตุเชิงรุกมากขึ้น 4.ผลักดันเรื่องการลดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก เยาวชน สังคม 5.ขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง ทั้งในระบบอุตสาหกรรมและรายย่อยในท้องถิ่น 6.ส่งเสริมการป้องกันโรคต่างๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคอ้วน การพนัน 7. สนับสนุนการที่ รพสต โอนย้าย สู่ อบจ โดยเสริมหลักคิดให้ รพ.สต.สร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษา 8.ขับเคลื่อนการป้องกันความรุนแรงในมิติต่างๆ 9.การลดผลกระทบทางสุขภาวะเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 10.ขับเคลื่อนผลกระทบสุขภาพจากนโยบายสาธารณะและการเมือง