กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงกรณีโรงงานในพื้นที่จังหวัดตาก
ใช้แรงงานไม่เป็นธรรม หลังตรวจสอบข้อมูล พบพนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงาน
นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในฐานะรองโฆษกกรมฯ ชี้แจงกรณี สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานข่าวการบังคับใช้แรงงานเมียนมาอย่างไม่เป็นธรรมที่โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 โดยลูกจ้างสัญชาติเมียนมา จำนวน 136 คน ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก
ว่านายจ้างเลิกจ้าง โดยค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดประเพณี ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัด ซึ่งประเด็นดังกล่าว นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับทราบถึงประเด็นปัญหาและกำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้ให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมตามกฎหมาย
รองอธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า จากกรณีดังกล่าว พนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานเอกสารจากฝ่ายลูกจ้างนายจ้างแล้ว และได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง 134 คน รวมเป็นเงิน 5,204,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัด สำหรับลูกจ้างอีก 2 คน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายจ้างยังไม่มีการเลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า สำหรับประเด็นค่าจ้างที่ลูกจ้างร้องว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้น จากการสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างดังกล่าว
จากนายจ้างครบถ้วนตามสิทธิแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีคำสั่งในประเด็นดังกล่าว ภายหลังจากการออกคำสั่ง ทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต่อศาลแรงงานภาค 6 (นครสวรรค์) ซึ่งเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565
ศาลแรงงานภาค 6 ได้พิพากษาคดีดังกล่าว โดยมีคำพิพากษาว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว และแก้ไขในส่วนของอายุงาน ค่าชดเชยของลูกจ้างผู้ร้อง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,615,950 บาท
พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ทั้งสองฝ่าย
ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งขณะนี้ประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่าง
การพิจารณาของศาล