ความดันโลหิตกับผู้สูงอายุ
ภาวะความดันโลหิตสูงนั้น มักไม่มีอาการบ่งบอก ผู้ป่วยอาจไม่เคยรู้ตัวจนกระทั่งได้รับการตรวจความดันโลหิตเบื้องต้นเมื่อเข้ารับการรักษาหรือตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล การตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้นสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมองโรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตาได้
การวัดความดันโลหิต เป็นการตรวจร่างกายที่สามารถให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้นซึ่งทำได้ภายในเวลารวดเร็วโดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ การวัดอาจทำโดยพันปลอกแขนหรือสอดแขนจนสุดต้นแขนเข้าไปในเครื่องอัตโนมัติ หรือใช้ผ้าพันรอบแขนแล้วสูบลมให้ผ้าพองขึ้นจนเกิดแรงบีบที่แขน จากนั้นจึงค่อย ๆ ปล่อยลมออกและรอดูค่าความดันที่จะปรากฏคงที่ในเวลาต่อมา
การวัดความดันนั้นควรใช้เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ ชนิดวัดที่ต้นแขน และได้รับการรับรองมาตรฐาน Clinically validated หรือการทดสอบทางการแพทย์ก่อนจัดจำหน่าย การทดสอบทางการแพทย์นี้นอกจากจะทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานแล้ว ยังทดสอบความแม่นยำของเครื่องซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับเครื่องมือที่ใช้วัดค่าที่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคอย่างค่าความดัน หรือค่าน้ำตาล
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเครื่องมือวัดความดันโลหิตชนิดปรอท (Mercury Sphygmomanometer) หรือเครื่องมือวัดความดันโลหิตชนิดอัตโนมัติ (Automatic Blood Pressure Measurement Device) ก็ต้องมีการ
ตรวจสอบมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะ และต้องใช้ปลอกแขนวัดความดัน (Arm Cuff) ที่ผ่านมาตรฐานทางการแพทย์ Cuff Validation หรือการทดสอบและรับรองปลอกแขนสำหรับวัดความดันด้วย เพื่อความแม่นยำในการตรวจวัดความดัน ควรเลือกปลอกแขนที่พอดี กระชับ และมีขนาดเหมาะสมกับแขนของผู้ใช้งาน คือมีส่วนที่เป็นถุงลม (Bladder)ครอบคลุมรอบวงแขนคิดเป็นร้อยละ 80 นั่นเอง
โดยเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอัตโนมัติที่ได้มาตรฐาน Clinically validated จะเป็นประโยชน์ ให้ค่าความดันโลหิตที่แม่นยำ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ สตรีมีครรภ์ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด หัวใจตีบ หรือโรคอื่นๆที่มีผลต่อหัวใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องวัดความดันโลหิตเป็นประจำอาจลำบากต่อการไปพบแพทย์หรือไม่อยากเดินทางไปถึงโรงพยาบาลเพียงเพื่อตรวจวัดความดันโลหิตอย่างเดียว เครื่องมือดิจิทัลจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมและควรมีติดบ้านไว้ เนื่องจากใช้งานได้ง่าย เคลื่อนย้ายและพกพาได้สะดวก มีข้อผิดพลาดน้อย อีกทั้งยังแสดงผลเป็นตัวเลขอย่างชัดเจนพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสำหรับผู้ป่วยทั่วไปผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่สายตาและการได้ยินไม่ดี รวมถึงผู้ป่วยเด็กด้วย ซึ่งการวัดความดันโลหิตเป็นประจำอาจทำให้พบความผิดปกติได้เร็ว เพิ่มโอกาสในการรักษา ช่วยให้หายเป็นปกติเร็วยิ่งขึ้นด้วย