เทศบาลฯ ตรัง จับมือ สสส.-สคล. เดินหน้าโครงการปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัย สร้างความรู้ ความเข้าใจ เสริมเกราะป้องกันอันตรายรอบด้าน เผยความสำเร็จต้องร่วมมือทุกฝ่าย ชู เหตุรุนแรงหนองบัวลำภู เดินหน้า 2 เรื่องต้องเข้มแข็ง พร้อมลุยแก้ตั้งแต่รากเหง้าการเลี้ยงดูเพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) เด็กปฐมวัย ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการครูและผู้ดูแลเด็กพร้อมผู้บริหารสถานศึกษา 80 คน เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีภูมิคุ้มกันและสร้างความปลอดภัย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
นายภูวณัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทุกหน่วยงานทั้งจังหวัดตรังต้องร่วมมือกันในการดูแล พัฒนาเด็กและเยาวชน ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะครู และผู้ดูแลเด็กที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการบ่มเพาะ สร้างทักษะชีวิตให้เด็กมีความแข็งแกร่ง รู้เท่าทันภัยรอบตัวและเอาตัวรอดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นจังหวัดตรังจึงได้นำโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย ของ สสส.มาพัฒาครู สร้างแนวคิด (Mind Set) ติดอาวุธ สร้างองค์ความรู้ ให้ครูและผู้ดูแลเด็ก มีประสบการณ์เพื่อนำไปสื่อสารกับเด็กและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครอง โดยหวังว่าเด็กเยาวชนในจังหวัดตรัง จะรู้เท่าทันสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ปลอดภัยในอนาคต
นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีนโยบายสำคัญคือความปลอดภัยของเด็กทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงเทศบาลนครตรังจึงได้กำหนดมาตรการ และแนวทางปฏิบัติในการดูแล พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และมาตรการป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น จัดจ้างเวรยามดูแล ไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าไปในสถานศึกษา กำหนดพื้นที่ที่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปรับ ส่งบุตรหลาน กำหนดให้ครู ผู้ดูแล มีกระบวนการอบรม ฝึกฝนเด็กรู้ ความเข้าใจ ถึงลักษณะ หรือรูปแบบที่เสี่ยงเกิดอันตราย สามารถดูแลตัวเองได้ เป็นต้น ทั้งนี้ทางเทศบาลจะมีการดูแลกับกำกับอย่างต่อเนื่อง
พ.ต.อ.อาคม บัวทอง รองผู้บังคับการภูธรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับศูนย์พัฒนาเด็กจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นบทเรียนของประเทศ ในการวางมาตรการป้องกันความเสี่ยง 2 ลักษณะ คือ 1. ความพร้อมของอาคารสถานที่ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย และบุคลากร คือหัวหน้าศูนย์และครูพี่เลี้ยงต้องมีความพร้อม แบ่งหน้าที่ผู้สอน ผู้ตรวจสอบความเรียบร้อย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อสกัดกั้นบุคคลต้องสงสัยก่อนก่อเหตุ โดยมีผู้ดูแลและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 2. ทักษะการเอาตัวรอดขณะเกิดเหตุ เน้นหลัก “หนี ซ่อน สู้” คือหากสู้ไม่ได้ก็ต้องหนี หรือหลบซ่อนในที่ปลอดภัย แต่หากได้เปรียบหรือสู้ได้ ก็สู้เน้นเรื่องของการใช้สติ ปัญญา อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่รากเหง้าของปัญหาคือรูปแบบการเลี้ยงดูบุตรหลาน ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ใช้สารเสพติด เลี้ยงบุตรหลานด้วยความรัก ความอบอุ่น ห่างไกลอบายมุข จะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กตั้งแต่อยู่ที่บ้าน และนำไปสู่ความปลอดภัยในสถานศึกษา
ขณะที่ นายบุญชู อังสวัสดิ์ หัวหน้าคณะวิทยากรภาคใต้ โครงการปลูกพลังบวกฯ กล่าวว่า โครงการนี้ ให้ความสำคัญในเรื่องของความร่วมมือในพื้นที่จากท้องถิ่นและจากหน่วยงานราชการ และวิชาการ ชุมชนรอบสถานศึกษา บ้าน วัดโรงเรียนเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของและสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เด็กๆ ได้เติบโต โดยหัวใจสำคัญของโครงการฯ คือ การฝึกอบรมคุณครู ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ โดยตรงในการบ่มเพาะและพัฒนาเด็กเล็กให้เกิด Growth mindset ที่ดีมีภูมิคุ้มกัน โดยสามารถใช้สื่อต่างๆ เข้ามาช่วย อาทิ หนังสือนิทาน เพลง เกมส์การศึกษา รวมทั้งมีคู่มือครู คู่มือผู้ปกครอง สานสัมพันธ์ บ้าน โรงเรียน พ่อ แม่ ลูกผูกพันธ์ สู่ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้คุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา นำไปสื่อสารยังเด็กปฐมวัย สร้างจิตสำนึกที่ดีเมื่อเขาเติบโตขึ้น ทั้งนี้ผู้ดำเนินโครงการจะมีการติดตามประเมินผล และให้กำลังใจคุณครูอย่างต่อเนื่อง.