การสร้างฉันทามติระดับโลกและเสริมสร้างความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือภารกิจสำคัญของการประชุมสุดยอด G20 ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ "Recover Together, Recover Stronger" (ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น)
เศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นกลไกใหม่ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยรายงานการพัฒนาอินเทอร์เน็ตโลก ประจำปี 2565 (World Internet Development Report 2022) ระบุว่า มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลใน 47 ประเทศทั่วโลก อยู่ที่ 38.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 15.6% จากปีก่อนหน้า
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา จีนได้เรียกร้องให้สมาชิก G20 พยายามร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือทางดิจิทัล เพื่อให้ผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกประเทศ
สร้างกระบวนทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก
จีนพร้อมที่จะร่วมมือกับสมาชิก G20 เพื่อร่วมกันสร้างกระบวนทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลกที่ประกอบด้วยประโยชน์สำหรับทุกคน ความสมดุล การประสานงาน ความครอบคลุม ความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอด G20 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
นายสี จิ้นผิง เน้นย้ำว่าต้องยึดมั่นในระบบพหุภาคี พร้อมเรียกร้องให้มีการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ
ประธานาธิบดีจีนระบุว่า การพัฒนาควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญก่อน และต้องมีการอุดช่องว่างทางดิจิทัล ขณะที่นวัตกรรมควรทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันในการส่งเสริมการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โรคระบาด
ในการประชุมสุดยอด G20 ณ เมืองหางโจว เมื่อปี 2559 จีนได้ชูเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นวาระสำคัญของ G20 เป็นครั้งแรก พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะคิดค้นรูปแบบการพัฒนาและดึงศักยภาพการเติบโตออกมาอย่างเต็มที่
ในการประชุมสุดยอด G20 ในปี 2560 และ 2561 ผู้นำโลกยังได้หารือกันอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การประชุมสุดยอด G20 หลายครั้งได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลุ่ม G20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
จีนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ประธานาธิบดีจีนยังเน้นย้ำว่า จีนจะทำงานร่วมกับสมาชิก G20 ต่อไปเพื่อส่งเสริมภูมิทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลกที่ "สมดุล ประสานงาน และครอบคลุม" ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนด้วยความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
นายสี จิ้นผิง เปิดเผยว่า จีนมีความคิดริเริ่มในการสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road) และระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นพื้นที่สำคัญของความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative หรือ GDI)
นอกจากนี้ จีนได้นำเสนอแผนปฏิบัติการ G20 ว่าด้วยความร่วมมือและนวัตกรรมดิจิทัล (G20 Action Plan on Digital Innovation and Cooperation) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงทำให้ผลลัพธ์ของนวัตกรรมเป็นประโยชน์ต่อทุกคนและแบ่งปันร่วมกันทุกคน และยินดีต้อนรับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย นายสี จิ้นผิง กล่าว
จีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการพัฒนาทางดิจิทัลของจีนจะเป็นแรงผลักดันใหม่ให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสร้างโอกาสใหม่สำหรับการพัฒนาร่วมกัน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีมูลค่าสูงถึง 45.5 ล้านล้านหยวน (ราว 6.3 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2564 ซึ่งคิดเป็น 39.8% ของจีดีพีของประเทศ จากการรายงานของสถาบันไซเบอร์สเปซศึกษาของจีน (Chinese Academy of Cyberspace Studies) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน
ณ เดือนมิถุนายน 2565 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1.05 พันล้านคนในจีน และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 74.4% จากรายงานสมุดปกขาวหัวข้อ "ร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันในไซเบอร์สเปซ" (Jointly Build a Community with a Shared Future in Cyberspace) ที่เผยแพร่โดยสำนักสารสนเทศของคณะมุขมนตรีจีน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน
รายงานสมุดปกขาวยังระบุด้วยว่า จีนมีเครือข่าย 5G ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านมาตรฐานและเทคโนโลยี 5G โดยมีเสาส่งสัญญาณ 5G จำนวน 1.85 ล้านเสา และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์มือถือ 5G จำนวน 455 ล้านราย
ถึงกระนั้น แผนพัฒนาห้าปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) และเป้าหมายระยะยาวจนถึงปี 2578 ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ของจีนไปสู่การสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจีนจะยังคงพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
แผนดังกล่าวระบุว่า จีนจะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลหลัก ๆ ต่อจีดีพีเป็น 10% ภายในปี 2568 จาก 7.8% ในปี 2563
แผนดังกล่าวระบุด้วยว่า ภายในปี 2568 การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีนจะก้าวไปสู่ระดับใหม่ ขณะที่บริการสาธารณะดิจิทัลจะครอบคลุมมากขึ้น และระบบการกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัลจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
https://news.cgtn.com/news/2022-11-16/China-calls-for-digital-cooperation-to-boost-global-economic-recovery-1f0OuLDSeCQ/index.html