รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน เพื่อรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน สิ่งนี้คือประเด็นสำคัญจากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศอาเซียน (AFMGM) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่นูซาดูอา บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอินโดนีเซียร่วมเป็นเจ้าภาพ การประชุมครั้งนี้มีการพบปะระดับสูงทั้งหมด 13 ครั้ง โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง และผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเข้าร่วมด้วย
นางศรี มูลยานี อินทราวาตี (Sri Mulyani Indrawati) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียกล่าวว่า "เราเชื่อว่าอาเซียนต้องตั้งเป้าเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ครอบคลุม และยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องราวของอาเซียนตลอดไป เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เราต้องเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายก่อนหน้านี้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความท้าทายในปัจจุบันและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า อาเซียนยังคงเป็นจุดเด่นในเศรษฐกิจโลก โดยภูมิภาคนี้มีโอกาสที่สดใสกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกที่มืดมน" ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระดับมหภาคค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน-5 (ASEAN-5) โตรวมกัน 5.3% และคาดว่าจะเติบโต 4.6% ในปีนี้ และโตต่อเนื่องอีก 5.6% ในปี 2567
การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมมากมาย ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจาก 9 ประเทศในอาเซียน (บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม) และตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 6 แห่ง (ธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ และธนาคารโลก)
ในการประชุม AFMGM สมาชิกอาเซียนต่างเห็นชอบแนวคิดการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของอินโดนีเซียปี 2566 อย่าง "อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ" (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) ซึ่งประกอบด้วย ประเด็นผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การฟื้นฟูและการสร้างใหม่ (2) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ (3) ด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนยังตอกย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกันและความร่วมมือที่แข็งแกร่ง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจคุกคามต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Priority Economic Deliverable หรือ PED) ของอินโดนีเซียประจำปี 2566 ได้แก่ การเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาด แหล่งทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ภาษีระหว่างประเทศ ความร่วมมือด้านศุลกากร การเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลสำหรับ MSME และการเงินเพื่อความยั่งยืน
ผลลัพธ์ของการประชุม AFMGM ครั้งที่ 1 จะรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ ส่วนการประชุม AFMGM ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา